“พาณิชย์” เชิญ “SMEs” หารือร่วม 3 ฝ่าย กรณีร้องเรียนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นจากจีนและเกาหลี

“พาณิชย์” เชิญ “SMEs” หารือร่วม 3 ฝ่าย กรณีร้องเรียนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นจากจีนและเกาหลี

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

13 มิถุนายน 2565 นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย และประธานสหพันธ์ผู้นำเข้าเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมด้วย ดร.ศุภชัย แก้วศิริ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สภาเอสเอ็มอี) นายสุจินต์ พิทักษ์ ประธานสภาเอสเอ็มอีจังหวัดสมุทรสาคร และนายเชาวลิต กาญจนาคาร ประธานสมาพันธ์ผู้บริโภคหลังคาเหล็กไทย ในนามผู้ใช้และผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากหลังคาเหล็กไทย ร่วมหารือกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ประกอบไปด้วย กรมการค้าภายใน สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และผู้แทนอุตสาหกรรมภายใน ตามคำเชิญของกรมการค้าต่างประเทศ

สืบเนื่องมาจาก สมาคมฯ ได้ร้องเรียนถึงผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) สินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อนแล้วทาสี (PPGL) ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ต่อกระทรวงพาณิชย์โดยมีนายบุญธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศร่วมหารือด้วย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งสมาคมฯ ได้มีข้อร้องเรียน ดังนี้

  1. สินค้าเหล็ก PPGL ขาดแคลน เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
  2. อุตสาหกรรมภายในไม่สามารถผลิตได้คุณภาพตามความต้องการใช้งานของผู้บริโภค
  3. เสนอให้มีการใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กับสินค้าเหล็ก PPGL
  4. ขอทบทวนอุตราอากร AD ของสาธารณัฐประชาชนจีนที่มีอัตราสูงถึงร้อยละ 40.77 โดยขอให้เก็บอัตราร้อยละ 0 ต่อไปอีก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค
  5. ขอให้พิจารณาทบทวนการต่อมาตรการตอบโต้การทุมตลาดเหล็กรีดหลังคาจากเวียดนามทั้ง GL และ PPGL โดยให้คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้บริโภคเป็นสำคัญ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ผลจากการหารือในรอบนี้ สรุปได้ว่า “กรมการค้าต่างประเทศจะพิจารณาส่วนเหลื่อมของการทุ่มตลาดสินค้าชนิดเดียวกันโดยตั้งอยู่บนมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เดียวกัน เพื่อปรับปรุงอัตราภาษีที่เรียกเก็บอยู่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของ สมอ. จะเร่งดำเนินการออกมาตรฐานบังคับใช้สำหรับสินค้า GL และ PPGL ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะเร่งรัดสรุปสำนวนที่สมาคมฯ เคยยื่นร้องเอาไว้โดยกำหนดกรอบเวลาภายใน 30 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศเสนอให้สมาคมฯ ยื่นทบทวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเข้ามาเป็นรายกรณีๆ ไป ขณะที่ อุตสาหกรรมภายในเสนอให้สมาคมฯ รวบรวมความต้องการการใช้งานเข้ามาอย่างน้อย 3,500-5,000 ตัน เพื่อพิจารณาให้ราคาพิเศษ (ราคาดีลเลอร์) อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสมาคมฯ มองว่าข้อเสนอนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ของผู้ใช้งานและผู้บริโภคในประเทศทั้งระบบ แต่จะรับข้อเสนอนี้ไปเสนอกับสมาชิกแล้วนำข้อสรุปมาแจ้งในที่ประชุมในครั้งต่อไป” นายพันธนวุฒิ กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง