กรมประมง.เร่งเพาะพันธุ์ปลา ‘ตะพัดเขียว’ คืนถิ่น สู่เขื่อนรัชชประภา เฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

กรมประมงเร่งเพาะพันธุ์ปลา ‘ตะพัดเขียว’ คืนถิ่น สู่เขื่อนรัชชประภา เฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี ร่วมจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลา “ตะพัดเขียว” จำนวน 200 ตัว คืนสู่แหล่งอาศัยในธรรมชาติเดิม ณ หน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขื่อนรัชชประภา ตำบลบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564

​ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่นและสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ ของกรมประมง ซึ่งได้เล็งเห็นว่าปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นถิ่นหลายชนิดของไทยอยู่ในสภาวะถูกคุกคาม และบางชนิดมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์สูง โดยเฉพาะ “ปลาตะพัดเขียว” (Scleropages formosus) หรือปลาตะพัดสีเงินสายพันธุ์ไทย ซึ่งในอดีตเคยมีรายงานพบปลาชนิดนี้ในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี สตูล ยะลา และสุราษฎร์ธานี แต่ปัจจุบันพบเพียงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา แม่น้ำตาปี คลองสก และคลองแสง ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนรัชชประภาเท่านั้น โดยคนท้องถิ่นจะเรียกว่า “ปลาหางเข้” แต่เนื่องจากมีรายงานการพบปลาตะพัดเขียวตามธรรมชาติน้อยมาก ประกอบกับเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ค่อนข้างยาก มีอัตราการแพร่ขยายพันธุ์ในธรรมชาติค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ปลาตะพัดชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์น้ำคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ระบุไว้ในบัญชีลำดับที่ 1 (CITES Appendix I)

​อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปลาตะพัดเขียว กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี จึงได้ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปลาตะพัดเขียว เพื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง มาเป็นเวลากว่า 20 ปี ด้วยการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติในคลองแสง จังหวัด
สุราษฎร์ธานี และได้ทยอยปล่อยปลาตะพัดเขียวคืนสู่ถิ่นอาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยกรมจะเร่งฟื้นฟูและอนุรักษสัตว์น้ำประจำถิ่นและสัตว์น้ำหายากที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายผลไปสู่การเพิ่มปริมาณประชากรในธรรมชาติให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย โดยในปีงบประมาณ 2564 ตั้งเป้าในการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่นและสัตว์น้ำหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ให้ได้ถึง 36 ชนิด

ขณะที่ นายเฉลิมพล เพ็ชรรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาตะพัดเป็นปลาสวยงามที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นปลาที่มีรูปลักษณ์สวยงาม แบ่งตามความนิยมของตลาดเป็น 4สายพันธุ์ ได้แก่ ตะพัดทองอินโดนีเซีย ตะพัดทองมาเลเซีย ตะพัดแดง
ตะพัดเขียวหรือตะพัดเงิน ปลาตะพัดที่พบในประเทศไทย คือ ปลาตะพัดเขียว หรือตะพัดสีเงินสายพันธุ์ไทย โดยสีพื้นตามลำตัวจะมีสีน้ำตาลเทา มีวงสีเขียวอยู่ตามเกล็ด ซึ่งปลาตะพัดตามธรรมชาติจะอาศัยอยู่เฉพาะในลำธารป่าดงดิบ ตามแหล่งน้ำที่ใสสะอาด กระแสน้ำไหลเอื่อย และระดับความลึกของน้ำไม่มาก สำหรับการเพาะพันธุ์ปลาตะพัดเขียว ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานีและได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

บทความที่เกี่ยวข้อง