“รฎาวัญ”ชูบทบาทสตรีสร้างสุขภาพ จับมือองค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยภาคตะวันออก จัดโครงการ”แม่=หมอในครอบครัว”

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

“รฎาวัญ”ชูบทบาทสตรีสร้างสุขภาพ จับมือองค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยภาคตะวันออก จัดโครงการ”แม่=หมอในครอบครัว”เติมความรู้การเสริมสร้างสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้สตรีและ LGBT นำสมุนไพรใกล้ตัวสร้างครอบครัวแข็งแรง เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2564

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2564 นายสุนทร พรหมมา ประธานองค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยภาคตะวันออก และคณะ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการนำภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมาใช้เพื่อป้องกันและรักษาสุขภาพของประชาชนไม่ให้เจ็บป่วยและพิการ และเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีให้ มีความรู้และเพื่อการมีส่วนร่วมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่สมาชิกในครอบครัวและในชุมชน เพื่อสนับสนุนวันสตรีสากลที่จะมาถึงในวันที่ 8 มีนาคม 2564 นี้

ในงานมีการเสวนาหัวข้อ “องค์ความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเพื่อสตรีไทย” วิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย 8 จังหวัดภาคตะวันออก นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้นำ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา เครื่องดื่มสมุนไพร อาหารเป็นยา และ สมุนไพรพื้นบ้านในภาคตะวันออกมาจัดแสดงนิทรรศการด้วย โดยมี รศ.ดร.วรรณี เดียวอิศเรศ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณีเป็นประธานเปิดงาน และมี พ.ต.ท.ดร.ฐนภัทร กิตติวงศา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยนางรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานในฐานะประธานองค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและคณะเดินทางมาร่วมงานด้วย กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น ณ สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี

นางรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ กล่าวว่าองค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นศูนย์รวมพลังความร่วมมือของสมาชิกเพื่อการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืน นอกจากองค์กรในส่วนกลางแล้วยังมีการตั้งองค์กรภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยประจำภาคได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคตะวันออก โครงการ”แม่=หมอในครอบครัว” ส่งเสริมบทบาทสตรีและ LGBT หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้มีความรู้แล้วนำสมุนไพรใกล้ตัวไปสร้างสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวให้แข็งแรง เกิดจากความตระหนักในคุณค่าและประโยชน์ของสมุนไพรไทยและตำรับยาแผนไทยโบราณที่ควรจะได้รับการพัฒนาวิจัยต่อยอดและนำมาใช้ป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 55 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นการส่งเสริมสิทธิ บทบาทของสตรีและ LGBT ในด้านการเสริมสร้างสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งจะสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรีทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานตกงานได้อีกทางหนึ่ง โดยตั้งเป้าจะ ขอความร่วมมือจากรัฐบาลและทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนจัดโครงการฝึกอบรมสตรีและ LGBT ให้ได้อย่างน้อย 10,000,000 คนทั่วประเทศ

ดร.วัฒนา บรรเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักธรรมนูญสุขภาพตำบลชากบกอำเภอบ้านค่ายจังหวัดระยอง กล่าวว่าเชื่อว่ายากที่จะหาประเทศใดมีทรัพยากรที่จะนำมาใช้ได้ดีเท่ากับอาหารสมุนไพรไทยที่ได้จากธรรมชาติ  จะเห็นว่าในทุก ครัวเรือนไทยเราจะมีการปรุงอาหารด้วยสมุนไพร  เพราะเรากินอาหารที่ปรุงจากครัวเราจึงได้สิ่งที่มาดูแลสุขภาพได้เหมือนยาบำรุงชั้นเลิศ ดังนั้นครัวจึงเป็นโรงปรุงยา ในชีวิตที่ดีที่สุดของคนไทย  ซึ่งคนยุคก่อนจึงไม่ค่อยเจ็บป่วยเหมือนคนยุคนี้ เพราะขาดสารอาหารสมุนไพรธรรมชาติ  เนื่องด้วยเดือนนี้เป็นเดือนสตรีสากล ทางกลุ่มผู้นำด้านสมุนไพรและภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยจึงได้เลือกสถาบันราชภัฏรำไพพรรณีจันทบุรี  ซึ่งซึ่งเคยเป็นที่ประทับ และวังของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระองค์เป็นผู้หญิงเก่งและแกร่ง ขณะเดียวกันท่านก็มีพระเมตตาและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องการสร้างอาหารเป็นยาเพื่อดูแลสุขภาพของคนใกล้ชิดอย่างยิ่ง  ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง สมุนไพร ที่ ดูแลสุขภาพ ของข้าราชบริพารและผู้ใกล้ชิด คือ แก้มแหม่มหรือมะม่วงหาวมะนาวโห่ พระองค์ได้ให้ทุกคนร่วมกันปลูกต้นแก้มแหม่มหรือมะม่วงหาวมะนาวโห่ไว้ในบริเวณพระราชวังและเมื่อ เห็นผลก็ช่วยกันเก็บมาแปรรูปทำเป็น มะม่วงหาวมะนาวโห่แช่อิ่มแจกจ่ายให้ทุกคนได้รับประทานเพราะประโยชน์ของสมุนไพรชนิดนี้นอกจากจะช่วยต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังสร้างความแข็งแกร่งให้กระดูก บำรุงเลือด  มีผิวพรรณที่งดงามสดใสมีอายุวรรณะ ดังนั้น ถ้าอยากเห็นประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่แข็งแรงและมีพลังอำนาจที่เป็นข้อต่อรองให้กับทุกคนในโลกพวกเราทุกคนต้องมาช่วยกันปลูกสมุนไพรและสร้างอาหารเป็นยาตามที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ส่งเป็นตัวอย่างให้พวกเราได้รับรู้และทำการต่อไป

นางเรียงขวัญ แรงสืบสิน ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยจากจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่าผู้หญิงจะทำได้หรือไม่ที่จะเป็นแม่หมอ ขอตอบว่า ผู้หญิงทำได้ดีที่สุดเพราะมีความละเอียดอ่อนและมีความอดทนสูง ถ้าผู้หญิงหันมาเป็นแม่หมอทุกคนในครอบครัวจะมีสุขภาพที่แข็งแรง ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้เยอะมาก เริ่มจากการดูแลตัวเองให้สวยวันสวยคืน แข็งแรงจากการใช้สมุนไพรไทยยกตัวอย่าง  แค่การย่างไฟเรียนรู้เรื่องนี้เรื่องเดียวก็เยียวยาได้ทั้งบ้าน-บำบัดดูแลหญิงหลังคลอดเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยที่จะตามมาที่เรียกว่าโรคสะบัดร้อนสะบัดหนาวหรือโรคลมผิดเดือนถ้าคนเป็นแม่ทุกคนไม่ละเลยการดูแลตนเองเรื่องนี้ จะเป็นแม่ที่มีสุขภาพที่แข็งแรงมากในวันข้างหน้า-ใช้กับคนปกติที่ต้องการผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อยร่างกายหรือความเหนื่อยล้าจากการทำงาน-ใช้กับคนที่เกิดอุบัติเหตุเช่นหกล้ม ตกจากที่สูงที่มีภาวะเลือดคั่ง  เลือดตกใน-ใช้กับคนที่ต้องการความงาม-ใช้กับคนที่ต้องการลดน้ำหนักการย่างไฟ ทำง่ายๆแต่ได้ผลมากใช้สมุนไพรใกล้ตัวรอบบ้านที่หาง่ายเช่นใบหนาด ใบเปล้าใบมะขาม ใบตะไคร้ ใบมะกรูดเป็นต้นอุปกรณ์ก็หาง่าย แค่ไม้ไผ่ ถ่าน แผ่นสังกะสี ผ้าห่ม 2 ผืน นอกจากจะเป็นแม่หมอดูแลคนในครอบครัวแล้วยังสามารถทำเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อีกด้วยค่ะ

นายเชื้อชาย ทิพย์สมบัติบุญ อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี กล่าวว่า ในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดในภาคตะวันออกเต็มไปด้วยพืชสมุนไพรมากมายหลายชนิดซึ่งตนเคยนำมาวิจัยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพดีมาก หากได้รับการพัฒนาต่อยอดจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนในภาคตะวันออก และประชาชนทั่วประเทศได้ และตนเคย ผลักดันงบประมาณจัดซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์แปรรูปสมุนไพรมาไว้ที่คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี ถ้าหากผู้บริหารสนับสนุนให้นำมาใช้ฝึกอบรมกลุ่มสตรี ก็จะช่วยสร้างอาชีพสร้างรายได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนได้ไม่น้อย

บทความที่เกี่ยวข้อง