เกษตรฯ จับมือเนคเทค ธกส. หน่วยงานพันธมิตร เผยแพร่พิมพ์เขียวระบบเกษตรอัจฉริยะ “HandySense”

เกษตรฯ จับมือเนคเทค ธกส. หน่วยงานพันธมิตร เผยแพร่พิมพ์เขียวระบบเกษตรอัจฉริยะ “HandySense”

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

เกษตรฯ จับมือเนคเทค ธกส. หน่วยงานพันธมิตร เผยแพร่พิมพ์เขียวระบบเกษตรอัจฉริยะ “HandySense” มุ่งพัฒนาการผลิต และคุณภาพสินค้า ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว “โครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่” HandySense : Smart Farming Open Innovation ณ กรมส่งเสริมการเกษตร ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ธกส. และหน่วยงานพันธมิตร ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ คือ ระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense)

โดยการสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 50 ศูนย์ พร้อมพัฒนาความรู้ทักษะในการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกรต้นแบบ ใน ศพก. และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อยกระดับเป็นวิทยากรเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบอัจฉริยะ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก

โดยการสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์ นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการทํางานกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อยกระดับสู่การทําเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยํา (Precision Agriculture) รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการเกษตร โดยมีจุดเน้นในด้านการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากการมีข้อมูลทางการเกษตร ประกอบกับเทคโนโลยี และแบบจำลองต่างๆ ซึ่งจุดเน้นคือการให้เกษตรกรและหน่วยงานเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลระบบเทคโนโลยีและ applications ต่าง ๆ และเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้น

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเกษตรและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร 2) การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรกลุ่มต่างๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรจากแหล่งต่างๆ ได้มากขึ้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและพัฒนาเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่ และ 3) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากการศึกษาวิจัยสำหรับถ่ายทอดสู่เกษตรกร และสะท้อนข้อมูลจากประสบการณ์ในงานส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำไปกำหนดโจทย์หรือประเด็นการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการของเกษตรกร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร่วมดำเนินการขยายผลงานวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับ ดีแทค และ เนคเทค
เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2560 ภายใต้โครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” มีเป้าหมายให้เกิดฟาร์มต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับฟาร์ม 30 แห่ง ใน 23 จังหวัด และได้รับการตอบรับดีจากเกษตรกร ต่อมาในปี 2562 เนคเทคร่วมกับจังหวัดฉะเชิงเทราได้ขยายผลการใช้งานจริงในพื้นที่ปลูกผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรผู้สนใจ 34 ราย ในทุกอำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งช่วยให้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช ใช้งานง่าย ทนทาน ราคาประหยัด สามารถลดการใช้แรงงานได้ประมาณร้อยละ 50 รายได้จากการเพิ่มคุณภาพปริมาณผลผลิต และลดการใช้ทรัพยากรโดยเฉลี่ยอย่างน้อยร้อยละ 20 และในปี 2564 นี้ ได้ร่วมมือกับเนคเทค และธกส. ในโครงการความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ HandySense : Smart Farming Open Innovation มีเป้าหมายจะดำเนินการ รวม 16 จุด แบ่งเป็น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 ศูนย์ (เขตละ 1 ศูนย์) และศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรอีก 10 ศูนย์ และมีแผนจะขยายผลให้ครบทั้ง 50 ศูนย์ปฏิบัติการภายในปี 2566 นอกจากนี้จะดำเนินการขยายผลไปสู่เกษตรกรทั่วไปที่สนใจที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะควบคู่กันไปด้วย

อย่างไรก็ตามการเปิดเผยพิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทย หรือผู้สนใจทั่วไปสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์และค่าใช้สิทธิ์ นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรไทยที่จะมีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัยได้ในราคาไม่แพงจนเกินไป เกษตรกรสามารถพัฒนาอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยได้ในอนาคต สำหรับระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense เป็นอุปกรณ์ IoT และ application ในการควบคุมสภาพแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วย 4 เซนเซอร์และ 3 ฟังก์ชั่น ซึ่งใช้วัดสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก และควบคุมการให้น้ำสำหรับพืช ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างน้อยร้อยละ 20 โดยเฉลี่ยซึ่งเกิดจากการลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรและการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต โดยปัจจุบันมีการติดตั้งอุปกรณ์ HandySense ทั่วประเทศแล้วจำนวน 77 แห่ง และคาดว่าจะขยายเป็น 200 แห่งได้ในปี 2565

บทความที่เกี่ยวข้อง