องคมนตรี เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย จ.เชียงใหม่

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

25 มีนาคม 2564 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วยนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสครบ 29 ปี การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2535 พร้อมมอบถังเก็บน้ำให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จำนวน 12 โรงเรียน เพื่อใช้สำหรับเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย สถานีเรดาร์แบบประจำที่ ชนิด S Band ความถี่ 2.8 GHz เป็นสถานีเรดาร์ฝนหลวงแห่งแรกที่นำเทคโนโลยีเรดาร์มาประยุกต์ใช้ในการเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง ใช้สำรวจข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในเขตพื้นที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตก ตรวจวัดการเกิดกลุ่มฝน/กลุ่มเมฆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผนก่อนการปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผล การยับยั้งลูกเห็บและการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535 ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย และทรงปลูกต้นแมคคาเดเมียไว้เป็นที่ระลึกในครั้งนั้น

สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านการตรวจสภาพอากาศชั้นบนประจำวันของบริเวณพื้นที่ภาคเหนือเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง การติดตามการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาตัวของเมฆ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้สานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงพระราชดำริไว้ให้เน้นการร่วมมือประสานงาน การทำงานกันอย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายให้ประสบผลสำเร็จ

โดยปัจจุบัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีสถานีเรดาร์แบบประจำที่ จำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย จ.เชียงใหม่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงตาคลี จ.นครสวรรค์ สถานีเรดาร์ฝนหลวงพิมาย จ.นครราชสีมา สถานีเรดาร์ฝนหลวงสัตหีบ จ.ชลบุรี สถานีเรดาร์ฝนหลวงพนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ฝนหลวงแบบเคลื่อนที่ จำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงบ้านผือ จ.อุดรธานี สถานีเรดาร์ฝนหลวงราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร และสถานีเรดาร์ฝนหลวงสิงหนคร จ.สงขลา ช่วยสนับสนุนภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงทั่วทุกภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งของพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดและสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรในเรื่องภัยแล้งอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง