เฉลิมชัย "นำทีมลงใต้ ติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง

“เฉลิมชัย “นำทีมลงใต้ ติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

“เฉลิมชัย “นำทีมลงใต้ ติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง พร้อมมอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้แก่เกษตรกร
 
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ณ อ.เมือง จ.ตรัง ว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยในรอบหลายปีที่ผ่าน ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนของราษฏร รวมถึงข้อมูลสถิติฝนตกหนักในรอบ 25 ปี จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำตรัง 1,467 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งศักยภาพแม่น้ำตรังนั้น สามารถรับได้ประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำเป็นต้องออกแบบคลองระบายน้ำสายใหม่ เพื่อระบายน้ำส่วนเกิน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จึงได้เร่งดำเนินโครงการดังกล่าว จากกรอบวงเงินโครงการ 1,482.50 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (2559 – 2565) ซึ่งเป็นการขุดคลองผันน้ำ ความยาว 7.55 กิโลเมตร กว้าง 102 เมตร ลึก 4.5 เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำหนองตรุด บริเวณต้นคลองผันน้ำ และประตูระบายน้ำคลองช้างบริเวณปลายคลองผันน้ำ สามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมถึงงานอาคารประกอบ ประกอบด้วย การก่อสร้างสะพานรถยนต์ 5 แห่ง และก่อสร้างอาคารรับน้ำ 20 แห่ง

หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ ต.หนองตรุด ต.นาโต๊ะหมิง และ ต.บางรัก ในเขต อ.เมือง จ.ตรัง คิดเป็นพื้นที่ 10,525 ไร่ และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภค ในฤดูแล้งได้ประมาณ 3.2 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์จากโครงการฤดูฝนประมาณ 10,000 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 3,000 ไร่ อีกทั้งในช่วงฤดูแล้งจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลักดันการรุกตัวของน้ำเค็มเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ช่วยผลิตน้ำประปาปีละ 1.74 ล้าน ลบ.ม. ด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน และพร้อมเข้ามาดำเนินการสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 สำหรับในปี 2564 นี้ กรมชลประทานได้มีแผนการเตรียมความพร้อมช่วงฤดูน้ำหลาก โดยมีการขุดเปิดช่องทางการระบายน้ำบริเวณสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก กม. 1+260 เพิ่มเติม (ดำเนินการโดยกรมทางหลวง) และการผันน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากช่วงเดือน (ต.ค.64 – ธ.ค.64) โดยติดตั้งบานระบายน้ำแล้วเสร็จ ที่ประตูระบายน้ำ กม.7+250 ทำให้สามารควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าคลองผันน้ำได้ด้วย

อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) จำนวน 10 ราย และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ พันธุ์ปลากระแห (ปลาลำปำ) จำนวน 50,000 ตัว พันธุ์ปลายี่สกเทศ จำนวน 50,000 ตัว พันธุ์ปลาสร้อยนกเขา จำนวน 50,000 ตัว พันธุ์ปลาสร้อยลูกกล้วย จำนวน 50,000 ตัว พันธุ์ปลาซิวควาย จำนวน 5,000 ตัว และลูกพันธุ์ปลาบ้า (ปลาสุลต่าน) ภายใต้โครงการโรงเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) จำนวน 1,000,000 ตัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,205,000 ตัว อีกทั้งยังมีบริการประชาชน โดยจัดเตรียมพันธุ์แหนแดง เพื่อนำไปใช้เพาะพันธุ์และเป็นอาหารปลา ลดต้นทุนการผลิต จุลินทรีย์น้ำเพื่อนำไปเป็นหัวเชื้อและใช้สำหรับบำบัดน้ำเสียในบ่อปลา และพันธุ์ปลาสวยงาม (ปลาคาร์บ)  เพื่อแจกให้เกษตรกร จำนวนรายละ 1 ชุด รวม 50 รายด้วย

////

บทความที่เกี่ยวข้อง