กรมประมง จับมือ ประมงพาณิชย์ เดินหน้าโครงการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” แก้ปัญหาขยะทะเล

กรมประมง จับมือ ประมงพาณิชย์ เดินหน้าโครงการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” แก้ปัญหาขยะทะเล

Share on facebook
Share on twitter
Share on email


กรมประมง จับมือ ประมงพาณิชย์ เดินหน้าโครงการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” แก้ปัญหาขยะทะเล เอาผิด คนทิ้งเครื่องมือประมงกลางทะเล หวังลดอัตราการตายของสัตว์ทะเล

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าล่าสุดกรมประมง ร่วมกับ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เตรียมนำร่อง โครงการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” (Fishing Gear marking) เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือประมงที่สูญหาย หรือ ถูกทิ้งกลางทะเล และปล่อยให้เป็นขยะสร้างมลภาวะในท้องทะเล โดยอนาคตเครื่องมือประมงจะถูกระบุตัวตนและสามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของเครื่องมือประมงได้อย่างชัดเจน ช่วยให้สามารถติดตามแหล่งที่มาของเครื่องมือประมง นำไปสู่การทำประมงอย่างรับผิดชอบได้ ​

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ รวมทั้งปัญหาขยะทะเลได้ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล อย่างมาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึง ได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งขับเคลื่อนนโยบายสำคัญด้านการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน กรมประมงจึงเร่งดำเนินการจัดระเบียบประมงด้านต่างๆ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร โดยมุ่งเน้นเพื่อการประกอบอาชีพที่มั่นคง และกรมประมง ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ทั้ง 22 จังหวัด ได้มีแนวคิดร่วมกันที่จะดำเนินการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” (Fishing Gear marking) เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือประมงที่สูญหาย ก่อให้เกิดขยะสร้างมลภาวะในท้องทะเล

โดยการติด marking ที่เครื่องมือประมง จะทำให้สามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของเครื่องมือประมงได้ สามารถติดตามแหล่งที่มาของเครื่องมือ เพื่อจะนำไปสู่การทำประมงอย่างรับผิดชอบ ซึ่งพี่น้องชาวประมง เห็นด้วยกับแนวการดำเนินการดังกล่าวนี้ ด้วยโดยกรมประมงได้มีการศึกษาทดลอง การติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง ตั้งแต่เมื่อ ปี 2560 แล้ว และได้ทำทดลองศึกษา ชนิด วัสดุ และรูปแบบของเครื่องหมายที่มีความแข็งแรง ทนทาน ที่เหมาะสมเพื่อใช้สำหรับติดตั้งบนเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง 8 ชนิดเครื่องมือ พบว่า อุปกรณ์ดังกล่าว มีความแข็งแรง เหมาะสม และไม่เป็นอุปสรรคในการทำประมง

นอกจากเรื่องของการติดเครื่องหมายบนเครื่องมือประมงแล้ว ที่ผ่านมากรมประมงร่วมกับพี่น้องชาวประมง ได้ดำเนินกิจกรรมที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ เช่น โครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” โดยชาวประมงจะนำขยะในทะเล และขยะที่อยู่บนเรือ คืนกลับขึ้นมาบนฝั่ง โดยมีการจดบันทึกรายงานจำนวนขยะที่เก็บมาแต่ละครั้ง ซึ่งจากดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา สามารถนำขยะคืนฝั่งได้มากถึง จำนวน 191,968 กิโลกรัม โครงการทะเลปลอดอวน (Net Free Seas) เป็นความร่วมมือของชาวประมงกับกรมประมงและมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) โดยการนำเศษอวนเอ็นจากเรือประมง กลับมารีไซเคิล แปรสภาพใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะที่เกิดจากเศษอวนประมง โดยปัจจุบันเศษขยะจากอวนสามารถแปรสภาพเป็นของใช้ต่างๆ เช่น ที่เปิดขวด ที่รองแก้ว พรมปูพื้น ฯลฯ และสามารถสร้างรายได้ให้ชาวประมง สามารถลดขยะที่เกิดจากเศษอวนได้มากถึง 14,000 กิโลกรัม

ขณะเดียวกัน ยังมี กิจกรรม “คืนชีวิตสู่ทะเล ปล่อยปูไข่นอกกระดองคืนธรรมชาติ” โดยชาวประมงร่วมกันปล่อยปูไข่นอกกระดองที่ติดอวนขึ้นมาคืนกลับสู่ทะเลเพื่อให้แพร่ขยายพันธุ์ต่อไป จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา ชาวประมงได้มีการปล่อยปูไข่นอกกระดองคืนกลับสู่ทะเลได้แล้วกว่า 35,000 ตัว ซึ่งแม่ปู 1 ตัว สามารถออกไข่ได้สูงถึง 300,000 – 500,000 ฟอง ซึ่งสามารถเพิ่มประชากรปูได้อย่างมหาศาล ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์และเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรปูทะเลในน่านน้ำทะเลไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง
boonmarket

มูลนิธิรามาธิบดีฯ จัดงาน “บุญมาร์เก็ต” งานแฟร์ใจฟูทั้งผู้ให้ และผู้รับ อิ่ม ฟิน ช้อป พร้อมกระทบไหล่ศิลปินดาราดัง 1-7 พ.ค.นี้ ที่เซ็นทรัล เวสต์เกต รายได้นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ รพ. รามาธิบดี