'สภาพัฒน์' แถลงจีดีพีปี 63 ติดลบ 6.1% คาดทั้งปีเศรษฐกิจปี 64 ขยายตัว 2.5 - 3.5%

‘สภาพัฒน์’ แถลงจีดีพีปี 63 ติดลบ 6.1% คาดทั้งปีเศรษฐกิจปี 64 ขยายตัว 2.5 – 3.5%

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

สศช.แถลงจีดีพีไตรมาส 4/2563 ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ปรับตัวลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เศรษฐกิจไทยทั้งปีติดลบ 6.1% คาดเศรษฐกิจปี 64 ขยายตัวได้ 2.5 -3.5% มองปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส4 /2563 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 วันนี้ (15 ก.พ.)

โดยจีดีพีไตรมาส 4/2564 ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแต่หดตัวลง 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวจากในเรื่องของการอุปโภคและบริโภคภาครัฐ และเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง

โดยรวมจีดีพีปี 2563 หดตัว 6.1% โดยเศรษฐกิจในปี 2563 ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้กระทบกับภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในประเทศอย่างมาก 

นอกจากนี้ สศช.ได้คาดการณ์จีดีพีปี 2564 คาดว่าขยายตัวอยู่ที่ 2.5% – 3.5% มีค่ากลางที่ 3%  ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.5% – 4.5%

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2564 มีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งจากงบประจำและเงินกู้

นอกจากนี้ สศช. ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการบริหารเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประสิทธิภาพการกระจายวัคซีน ความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว   การเฝ้าระวังปัญหาภัยแล้ง การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามแผนที่วางไว้เพื่อให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย

ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงว่า สศค. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้เหลือขยายตัว 2.8% มีช่วงคาดการณ์ 2.3-3.3% จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 4.5%

ปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่คาดการณ์ว่า จะลดลงเหลือ 5 ล้านคน รายได้เหลือ 2.6 แสนล้านบาท จากคาดการณ์เดิม 8 ล้านคน รายได้ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท

“แม้กิจกรรมเศรษฐกิจเราจะยังคงมีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง คนละครึ่ง เราชนะ มาตรการการเงินผ่านแบงก์รัฐและการเบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และการส่งออกที่คาดการณ์จะดีขึ้นในปีนี้ แต่ปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบมาก คือ การท่องเที่ยวของต่างชาติที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 โดยการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ยังเป็นไปค่อยเป็นค่อยไป โดยมีความเสี่ยงที่เข้ามากระทบคือ โควิด-19 และความสำเร็จของวัคซีน”

สศค.คาดการณ์การส่งออกปีนี้ขยายตัว 6.2% จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 6% โดยเป็นผลจากการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะขยายตัวดีขึ้นที่ 5.2% ปัจจัยสำคัญ คือ การควบคุมสถานการณ์โควิด-19 และการออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ บวกกับฐานการขยายตัวปีที่แล้วต่ำ ส่วนการบริโภคเอกชนคาดการณ์ขยายตัว 2.5% การลงทุนเอกชนขยายตัว 3.4% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 6.1% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 12.1%

บทความที่เกี่ยวข้อง