"มนัญญา’ ลุยเมืองกาญฯ เปิดโครงการรณรงค์ป้องกันโรค LSD เฝ้าระวังเข้มลดการแพร่เชื้อในโค กระบือ

“มนัญญา’ ลุยเมืองกาญฯ เปิดโครงการรณรงค์ป้องกันโรค LSD เฝ้าระวังเข้มลดการแพร่เชื้อในโค กระบือ

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ในพื้นที่จ.กาญจนบุรี พร้อมด้วย ทีมงานและผู้บริหารกระทรวงเกษตรโดยมี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เขต 3  หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ

โดยช่วงเช้าเดินทางไปยังฟาร์มโคขุนน้อยการเกษตร ต.หนองลาน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เพื่อมอบสิ่งของเวชภัณฑ์ น้ำยาฆ่าเชื้อและยากำจัดแมลง ให้กับเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ จำนวน 70 ชุด และชมการสาธิตการดูแลฟาร์มเพื่อป้องกันการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือโดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นช่วงบ่ายเดินทางไปยังโรงเรียนชาวนาบ้านหนองทราย ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เพื่อมอบสิ่งของเวชภัณฑ์ น้ำยาฆ่าเชื้อและยากำจัดแมลง ให้กับเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ จำนวน 20 ชุด และชมการสาธิตการดูแลฟาร์มเพื่อป้องกันการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ นางสาวมนัญญา กล่าวว่า โรคลัมปี สกินเป็นโรคอุบัติใหม่ในโค กระบือ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันได้ประสานกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี สกิน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายใด ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี สกิน ขอให้ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ หรือสำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง

“นายกรัฐมนตรีฯ มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งได้กำชับให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบืออย่างเร่งด่วน แม้จ.กาญจนบุรีจะยังไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ดียังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออยู่ ซึ่งได้มีการป้องกันทางชายแดน โดยจะเร่งจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอ ขอยืนยันและสร้างความมั่นใจว่าโรคดังกล่าวหากโค กระบือรักษาหายแล้ว สามารถรับประทานเนื้อได้” รมช.มนัญญา กล่าว

โดย จ.กาญจนบุรีได้มีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ไม่ให้มีการแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี ให้ทำการเฝ้าระวังพร้อมทั้งให้ความรู้สร้างความเข้าใจในการป้องกันการแพร่ระบาด การพ่นยากำจัดแมลงดูดเลือด ถือเป็นพาหะภายในฟาร์ม และการรักษาบรรเทาอาการให้กับสัตว์ที่ติดเชื้อในเบื้องต้นแก่เกษตรกรที่เลี้ยงโคและกระบือ พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือแก่เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบตามมาตรการการช่วยเหลือของทางภาครัฐอย่างเต็มที่ ขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือได้ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกินในโคและกระบือเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดขยายวงกว้างต่อไป

สำหรับจังหวัดกาญจนบุรีมีเกษตรกรที่เลี้ยงโค กระบือทุกอำเภอ จำนวน 14,272 ราย มีจำนวนโค กระบือ รวม 319,371 ตัว ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 มีจำนวนโคป่วยสะสมด้วยโรคลัมปี สกิน 706 ตัว สามารถรักษาจนหายป่วยแล้ว 110 ตัว ในส่วนของอำเภอท่ามะกา ปัจจุบันมี โคป่วยทั้งหมด 87 ตัว และหายป่วยแล้ว 17 ตัว คงเหลือป่วยอยู่ 70 ตัว อำเภอพนมทวน ปัจจุบันมีโคป่วยทั้งหมด 234 ตัว และหายป่วยแล้ว 1 ตัว คงเหลือป่วยอยู่ 233 ตัว หากโรคลัมปี สกินยังมีการระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและกระบือในพื้นที่อำเภอท่ามะกาเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้อง