ฝนหลวงฯ เร่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาคอีสาน พร้อมร่วมลงนาม MOU กับอินโดนีเซีย

ฝนหลวงฯ เร่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาคอีสาน พร้อมร่วมลงนาม MOU กับอินโดนีเซีย

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

ฝนหลวงฯ เร่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาคอีสาน พร้อมร่วมลงนาม MOU กับอินโดนีเซีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน แก้ไขปัญหาภัยแล้ง

17 มีนาคม 2564 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงติดตามข้อมูลและวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง การบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมไปถึงการเติมน้ำในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยว่า 30% ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศและกองทัพบกในการสนับสนุนอากาศยานและกำลังพล เพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเมื่อวานนี้ (16 มีนาคม 2564) กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและบรรเทาความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำจำนวน 8 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 3 แห่ง และ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

สำหรับการติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงได้มีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่การเกษตร จ.บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ

อย่างไรก็ตาม ในนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ผ่านการประชุมเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) กับดร. ฮัมมาน รีซ่า (Dr. Hammam Riza) ประธานสำนักประเมินและประยุกต์การใช้เทคโนโลยีแห่งอินโดนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เทคนิคด้านการดัดแปรสภาพอากาศ และพัฒนาบุคลากรในการดำเนินงานวิจัย ภายใต้กรอบระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2567

ซึ่งทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศด้วยเทคโนโลยีทางเลือกเพื่อแก้ไขความผันแปรของสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาความท้าทายและทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงตกลงจะดำเนินความร่วมมือและจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการดำเนินความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ระยะ 20 ปี ด้านที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศด้วยการบูรณาการและสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกการปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง