กรมฝนหลวงฯ ร่วมกับกองทัพอากาศปฎิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงพายุลูกเห็บพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

กรมฝนหลวงฯ ร่วมกับกองทัพอากาศปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงพายุลูกเห็บพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

กรมฝนหลวงฯ ร่วมกับกองทัพอากาศปฎิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บช่วยเหลือพี่น้องประชาชนพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประจำปี 2564

วันที่ 12 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าทางกรมฝนหลวงฯได้มีการปฎิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ ภายใต้ความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ประจำปี 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการเกิดพายุลูกเห็บ พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุลูกเห็บ และเพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โดยมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 บรรเทาปัญหาพายุลูกเห็บพร้อม บรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่า และช่วยเหลือปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายจากพายุฤดูร้อนและพายุลูกเห็บเป็นประจำทุกปี พร้อมมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ในปี 2564 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้กำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยใช้เครื่องบิน Super King Air 350 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ทจากกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและมีความเร็วในการเข้าถึงเป้าหมายในการปฎิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บร่วมกันปฎิบัติการฝนหลวง โดยใช้วิธีโจมตีด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ โดยการนำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์เร่งกระบวนการทางธรรมชาติทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำโดยที่ผลึกน้ำแข็งจะละลายตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายอันเกิดจากพายุลูกเห็บลงได้

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – วันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังได้ปฎิบัติภารกิจบินสำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์จำนวน 6 เที่ยวบิน ที่บริเวณพื้นที่ อำเภอแม่แจ่ม อำเภอเชียงดาว อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และบริเวณรอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ – ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก – อำเภอโฮ่ง จังหวัดลำพูน และปฎิบัติภารกิจตักน้ำดับไฟป่า รวมทั้งสิ้น 93 เที่ยวบิน ได้ปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่งรวม 46,500 ลิตร

บทความที่เกี่ยวข้อง