"SMEs" ผู้ผลิตหลังคาเหล็กรวมตัวยื่นหนังสือ รมว.พาณิชย์ เสนอทบทวนมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก กระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบ

“SMEs” ผู้ผลิตหลังคาเหล็กรวมตัวยื่นหนังสือ รมว.พาณิชย์ เสนอทบทวนมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก กระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบ

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

ผู้ผลิตหลังคาเหล็ก รวมตัวบุกยื่นหนังสือ รมว.พาณิชย์ ทบทวนมาตรการขึ้นภาษีเหล็กส่งผลกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบ ขณะที่ อดีตประธานสภาเอสเอ็มอีวอนรัฐเร่งแก้ปัญหา อย่าโยนปัญหาให้ผู้บริโภคปลายน้ำ

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 กลุ่มตัวแทนจากสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย และผู้บริโภคกว่า 60 คน นำโดย นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย พร้อมด้วยนายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ อดีตประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) และที่ปรึกษาสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย ดร.ศุภชัย แก้วศิริ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย และนายชวลิต กาญจนาคาร ประธานสมาพันธ์ผู้บริโภคหลังคาเหล็กไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยมีนายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนรับหนังสือของกลุ่มดังกล่าว และเปิดห้องเจรจาหารือกับผู้แทนกลุ่มที่มาร้องเรียน

ทั้งนี้ นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย เปิดเผยว่า “จากมาตรการปกป้องการทุ่มตลาด หรือ Anti-Dumping (AD) มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 40% ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำเข้าเหล็กที่เป็นวัตถุดิบสำหรับนำมาผลิตหลังคาเหล็กได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาวัตถุดิบในการนำเข้าจากต่างประเทศที่สูงอย่างมาก ส่งผลให้ ราคาหลังคาเหล็กขยับตังสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้หลายสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยนำเข้าจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งเหล็กเป็นอีกสินค้าที่พึ่งพาตลาดหลักอย่างจีน ซึ่งผลกระทบซ้ำเติมอีก ทางหนึ่ง จนทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนอย่างหนัก จึงต้องรวมตัวยื่นหนังสือถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ทบทวนมาตรการขึ้นภาษีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการถือว่าเดือนร้อนมากจากการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD ที่นำมาใช้ในการปกป้องผู้ผลิตในประเทศหรืออุตสาหกรรมภายใน เป็นสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียม และสังกะสีแบบจุ่มร้อนแล้วทาสี หรือ พี-พี-จี-แอล (PPGL) และเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบ หรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียม และสังกะสีแบบจุ่มร้อน หรือ จี-แอล (GL) จากต่างประเทศมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้สินค้าเริ่มขาดแคลน และราคาพุ่งสูงขึ้น เพราะมีการจัดเก็บภาษีเอดี โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน ในอัตราสูงถึง 40.77%

ซึ่งข้อเท็จจริง แม้มาตรการเอดี จะมีผลตั้งแต่ปี 2564 และได้รับการขยายระยะเวลา เก็บภาษีอัตรา 0% ออกไป 2 ครั้ง รวม 1 ปี จนถึงเดือนเมษายน 2565 แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอยู่แล้วจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และยังเจอมาตรการเอดี ทำให้ยิ่งกระทบหนัก เพราะผู้นำเข้าไม่สามารถสู้ราคานำเข้าได้แล้ว และผู้ผลิตโรงรีดหลังคา ก็ไม่มีสินค้ามาผลิต และต่อไปอาจจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยขณะนี้ สต๊อกในประเทศ สินค้าหลายรายการ เริ่มหาซื้อไม่ได้แล้ว

สำหรับโรงงานผู้ประกอบการโรงรีดหลังคาในประเทศไทยที่มีกว่า 1,600 โรงงาน มีความต้องการใช้เหล็กหลังคาประมาณ 120,000 – 140,000 ตันต่อเดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศ ที่ทำได้เพียง 28,000 – 30,000 ตันต่อเดือนเท่านั้น จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ทบทวนการขยายระยะเวลา หรือ ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการเอดี และในระหว่างการพิจารณาทบทวนนั้น ขอให้เรียกเก็บภาษี 0% ไปก่อน เพราะขณะนี้ช่องทางตลาดในประเทศอื่นนอกจากจีน ก็ถูกเรียกเก็บภาษีเอดีเช่นเดียวกันในอัตราที่แตกต่างกันไป

ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีความชัดเจนในการพิจารณามาตรการนี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบทุกภาคส่วนรวมถึงผู้บริโภคให้น้อยที่สุด ซึ่งตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ได้กำหนดให้พิจารณาใช้มาตรการโดยคำนึงถึงอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์ของสาธารณะ จึงต้องพิจารณาว่าการเรียกเก็บภาษีนี้เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และหากยังไม่มีการตอบรับจากกระทรวงพาณิชย์เพื่อแก้ไข สมาชิกจะยกระดับไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องไปยังท่านนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ด้าน นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ อดีตประธานสภาเอสเอ็มอี ย้ำว่า “ผู้ประกอบการเห็นด้วยกับมาตรการเอดี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง เพราะว่าความต้องการใช้ยังสวนทางกับกำลังการผลิตที่ยังมีส่วนต่างอีกจำนวนมาก จึงมีการตั้งคำถามว่าทำไมภาครัฐไม่เร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอและลดต้นทุนให้ใกล้เคียงกับการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะการขึ้นภาษีเอดีนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้ประกอบการตลอดจนผู้บริโภคขั้นสุดท้ายที่ต้องซื้อสินค้าแพงตามต้นทุนของสินค้า ดังนั้น เสนอให้มีการแขวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ไประยะหนึ่ง พร้อมทั้งเร่งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่แขวนกฎหมายดังกล่าว”

SMEs คัดค้านมาตรการ AD @กระทรวงพาณิชย์

บทความที่เกี่ยวข้อง