สภาเอสเอ็มอีเลือกตั้งประธานคนใหม่ “ดร.ศุภชัย” นั่งแท่นประธานแทน “ไชยวัฒน์”เดินหน้าขับเคลื่อนช่วยผู้ประกอบการ SMEs ฟื้นฟูธุรกิจหลังวิกฤตโควิด เชื่อมโยงช่องทางตลาดการซื้อขายระหว่างจังหวัด การค้าชายแดน นำร่องด่านถาวรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ พร้อมหนุนสินค้าไทยการส่งออกเปิดตลาดกลุ่มประเทศมุสลิมและยุโรป

25 กุมภาพันธ์ 2565 สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 โดยมีวาระสำคัญในการเลือกตั้งประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย วาระปี 2565-2566 แทนนายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ โดยที่ประชุมได้รับรอง ดร.ศุภชัย แก้วศิริ ขึ้นเป็นประธานสภาเอสเอ็มอีในวาระปี 2565-2566
นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ เปิดเผยว่า “จากการก่อตั้งสภาเอสเอ็มอีมาตั้งแต่ปี 2557 โดยภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ที่ประกอบไปด้วยสมาคม มูลนิธิ ชมรม และคลัสเตอร์ต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นผู้แทนของ SMEs ในการสะท้อนปัญหาและความต้องการของ SMEs พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่ามี 3 Pain Point ของ SMEs ได้แก่ ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การตลาด และด้านองค์ความรู้และนวัตกรรม จึงได้พัฒนา SMEs Smart Province โมดล เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวแบบบูรณาการครบวงจรขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ทั้งประเทศจากระดับจังหวัดต่อไป”

ดร.ศุภชัย แก้วศิริ เปิดเผยว่า “ในปี 2565 หาก สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หรือไปในทิศทางที่ดีขึ้น สภาเอสเอ็มอีจะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทั้งขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro) โดยจะเริ่มต้นจากการสร้างองค์ความรู้และนวัตนกรรม การหาแหล่งเงินทุน และการขยายช่องทางการตลาดให้มากขึ้น แล้วนำเสนอมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs ต่อรัฐบาลต่อไป”
“การให้ความช่วยเหลือด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สภาเอสเอ็มอีเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบกองทุน SMEs ที่บริหารโดยภาคเอกชน โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนและร่วมกลั่นกรอง เพื่อดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs กลุ่มต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้ง SMEs กลุ่ม Startup และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากหญ้าตัวแรก นำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศต่อไป” ดร.ศุภชัย กล่าว
นอกจากนี้ เสนอให้มีการยืดหยุ่นเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าธนาคารเดิมด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน ทั้งกลุ่มที่มีประวัติการชำระปกติ กลุ่มที่เป็น NPL และ/หรือปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงกลุ่มที่ต้องการขอสินเชื่อรายใหม่ โดยพิจารณาบนพื้นฐานของสถานการณ์ไม่ปกติ

แนวทางการช่วยเหลือ SMEs ด้านการตลาด เสนอแนวทางการเชื่อมโยงช่องทางตลาดเอาไว้ 3 ช่องทาง ได้แก่
- การซื้อขายระหว่างจังหวัด ผ่านประธานสภาเอสเอ็มอีจังหวัด
- การค้าชายแดน (นำร่องด่านถาวรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์)
- การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมและยุโรปเพื่อนำรายได้เข้าประเทศด้วย สำหรับสินค้าที่พร้อมส่งออก
“ด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ มีความพร้อมที่จะรองรับสินค้า SMEs จากทั่วประเทศ ที่มีเป้าหมายที่จะส่งสินค้าไปยังประเทศกัมพูชา” นายสืบสมบัติ ศรีสุรินทร์ ประธานสภาเอสเอ็มอีจังหวัดสุรินทร์กล่าว
สภาเอสเอ็มอี “ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน”
https://www.facebook.com/ThaiSMEsCouncil
#ThaiSMEsCouncil