ไทยโชว์สุดยอดโปรเจคการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมกุ้งในเวทีการประชุม “พันธมิตรกุ้งอาเซียน” ครั้งที่ 11

ไทยโชว์สุดยอดโปรเจคการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมกุ้งในเวทีการประชุม “พันธมิตรกุ้งอาเซียน” ครั้งที่ 11

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

 
21 มิถุนายน 64 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า ประเทศไทย โดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขานุการของพันธมิตรกุ้งอาเซียน (ASEAN Shrimp Alliance) จัดการประชุม The 11th ASEAN Shrimp Alliance Meeting เปิดเวทีให้ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ร่วมเจรจาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการผลิตและการค้ากุ้งระหว่างกัน พร้อมร่วมฝ่าฟันวิกฤตโควิด – 19 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของอาเซียนสู่ความยั่งยืน  โดยครั้งนี้ราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกล ณ ห้องประชุมกุลาดำ กรมประมง โดยมอบหมายตนร่วมพิธีเปิดการประชุมพันธมิตรกุ้งอาเซียน ครั้งที่ 11 หรือ The 11th ASEAN Shrimp Alliance Meeting ผ่านระบบการประชุมออนไลน์
 
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดเวทีให้ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย รวมทั้งหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเซียนและแปซิฟิก (FAO-RAP) และ องค์การระหว่างประเทศด้านข่าวสารการตลาดและบริการแนะแนวด้านเทคนิคของสินค้าสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (INFOFISH) ได้เเลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการผลิตและการค้ากุ้งระหว่างกัน พร้อมสนับสนุนให้มีการกำหนดมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์การผลิตกุ้งให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการเปิดช่องทางเจรจาหารือหรือป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี  และกำหนดท่าทีร่วมกันต่อประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ

โดยในการประชุมครั้งนี้ จะเน้นการติดตามความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพันธมิตรกุ้งอาเซียน ค.ศ. 2021-2025 (The plan of Action of ASEAN Shrimp Alliance 2021-2025) และการบรรยายให้ความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก ในประเด็นผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) รวมถึงสถานการณ์ แนวโน้ม ผลผลิต และการตลาดของอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ
 
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการนำเสนอโครงการความร่วมมือที่สำคัญจำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย

  1. ความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาการเจริญเติบโต ความทนทาน และการต้านทานโรคตายด่วนในกุ้งขาวในระยะยาวสำหรับกลุ่มพันธมิตรกุ้งอาเซียน (Regional Collaborative for long-term genetic improvement of growth, robustness and resistance to early mortality syndrome in white shrimp for ASEAN Shrimp Alliance)
  2. การสร้างความตระหนักรู้ในการดำเนินงานระบบการตรวจสอบย้อนกลับและการรับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ASEAN Awareness Building on Implementing Traceability System and Aquaculture Certification)

โดยทั้ง 2 โครงการ เมื่อผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมดังกล่าวแล้ว ไทยจะเสนอต่อที่ประชุมเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) เพื่อขอรับการพิจารณาในการจัดหาแหล่งทุนสนับสนุนภายใต้กลไกของอาเซียนต่อไป

กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยและเลขานุการของพันธมิตรกุ้งอาเซียน จะเร่งผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ และประเด็นที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศสมาชิกให้มีศักยภาพเพิ่มขี้นตามลำดับ และสร้างขีดความสามารถในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งในภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวทะยานสู่ความยั่งยืน โดยมีนโยบายความร่วมมือร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของกลุ่มประเทศสมาชิกโดยเร็วต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง