กรมชลประทานวางแผนรับมือมวลน้ำ ชี-มูล

กรมชลประทานวางแผนรับมือมวลน้ำ ชี-มูล

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

กรมชลประทานวางแผนรับมือมวลน้ำ ชี-มูล ต่อเนื่อง ศูนย์บริหารฯ ลุ่มน้ำชี-มูล เร่งแก้ปัญหารับมวลน้ำเหนืออย่างเต็มศักยภาพ

เช้าวันนี้ (11 ต.ค. 64) นายวัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ที่ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดีทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากขึ้น โดยกรมชลประทาน จะดำเนินการเก็กกักน้ำดังกล่าวสำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ต่อไป

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล ในเขต อ.เมืองอุบลราชธานี ได้แก่บริเวณชุมชนวังแดง มีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 1.70 ม. ชุมชนหาดคูเดื่อ น้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.10 ม.ชุมชนหาดวัดใต้ น้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.20 – 0.80 ม.ชุมชนหลังโรงเรียนสมเด็จ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อเข้าท่วมมีบ้านเรียนราษฎร น้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.40 ม.ชุมชนเยาวเรศ 3 น้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.40 ม.ริมตลิ่งชุมชนทัพไท น้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.20 – 0.60 ม.ชุมชนวังสว่าง น้ำท่วมขังสูงประมาณ 0.20 – 0.60 ม. ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล ในเขต อ.วารินชำราบ ยังคงท่วมชุมชนท่าบ้งมั่ง , ชุมชนเกตุแก้ว , ชุมชนหาดสวนยา , ชุมชนดีงาม และชุมชนดอนงิ้ว น้ำท่วมสูงประมาณ 0.30 – 0.70 ม.

ทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ได้ประสานไปยังเขื่อนราษีไศล สำนักงานชลประทานที่ 8 ว่าเมื่อระดับน้ำหน้าเขื่อนราษีไศล ถึงระดับ +119.00 ม. (รทก.) ขอให้ทำการแขวนบานระบายพ้นน้ำทั้ง 7 บาน เพื่อช่วยเพิ่มการระบายให้กับลำน้ำมูลอย่างเต็มศักยภาพตามธรรมชาติ เนื่องจากขณะนี้มวลน้ำจาก จ. นครราชสีมา กำลังทะยอยเคลื่อนตัวลงสู่เขื่อนราษีไศล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ)

นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว 2 เครื่อง และขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำวัดเสนาวงศ์ อ.วารินชำราบ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 4 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่องบริเวณชุมชนท่ากอไผ่ อ.วารินชำราบ พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 100 เครื่อง บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง และเรือสูบน้ำอีก 1 ลำ บริเวณแก่งสะพือ นอกจากนี้ สำนักเครื่องจักรกล ได้เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ กว่า 1,200 หน่วย ที่พร้อมจะสนับสนุนภารกิจในการช่วยเหลือประชาชน ต่อไปด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง