‘สภาเอสเอ็มอี’ ร้อง ‘พาณิชย์’ แก้ปัญหาเหล็กราคาแพงและขาดตลาด กระทบ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และผู้บริโภคทั้งระบบ

‘สภาเอสเอ็มอี’ ร้อง ‘พาณิชย์’ แก้ปัญหาเหล็กราคาแพงและขาดตลาด กระทบ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และผู้บริโภคทั้งระบบ

Share on facebook
Share on twitter
Share on email

สภาเอสเอ็มอีสะท้อนปัญหาผลกระทบของผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่อกระทรวงพาณิชย์ ร่วมหาทางออกอย่างยั่งยืนแบบ Win-Win

18 พฤษภาคม 2564 นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย พร้อมด้วย สหพันธ์ผู้นำเข้าเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ร่วมประชุมหารือเพื่อนำเสนอผลกระทบของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องราคาเหล็กและการขาดแคลนสินค้าเหล็กในประเทศไทย กับนายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) พร้อมด้วย ดร.กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และคณะผู้บริหารของกรมฯ ผ่านระบบออนไลน์

สหพันธ์ผู้นำเข้าเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เข้าร่วมการประชุม ประกอบไปด้วย สมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย สมาคมเหล็กลวด สมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย บริษัทผู้นำเข้าเหล็ก และบริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด

นายไชยวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า เคยได้นำคณะให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐในคณะกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า SMEs ในอุตสาหกรรมเหล็กไทยและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประสบปัญหาอย่างหนักจากการที่ภาครัฐมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (AD) และต่อเนื่องด้วยมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AC) แม้ว่าอุตสาหกรรมภายในประเทศจะไม่สามารถ Supply สินค้าได้ตามความต้องการของผู้บริโภคกลางน้ำและปลายน้ำได้อย่างเพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณสมบัติของสินค้า ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงมากในช่วงนี้ที่ราคาเหล็กของโลกสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ จากกฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้นำเข้าเหล็กซึ่งเคยเป็นส่วนที่มาชดเชยปัญหาการขาดแคลนดังกล่าว ไม่กล้านำเข้าเหล็กมาจำหน่าย เนื่องจากเกรงเรื่องการกำหนดราคาของสินค้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจคุมต้นทุนไม่ได้ และการถูกบังคับใช้กฎหมายที่ร้องเรียนโดยผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมาย

จึงสรุปปัญหาและเสนอทางออกในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้

  1. ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในประเทศ จำเป็นต้องมีการนำเข้ามาชดเชยส่วนต่าง (ซึ่งต้องนำข้อมูลที่แท้จริงมาเจรจากันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค)
  2. ใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณากีดกันผลิตภัณฑ์ที่อุตสาหกรรมภายในสามารถผลิตได้ และป้องกันสินค้าด้อยมาตรฐานที่นำเข้ามาในราคาถูก
  3. เจรจาเรื่องปริมาณและคุณภาพของความต้องการสินค้าเหล็กที่แท้จริงรายผลิตภัณฑ์เหล็ก เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่าง Win-Win Situation รายผลิตภัณฑ์ โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ดร.กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รับหน้าที่เป็นคนกลางในการประสานงานให้อุตสาหกรรมภายในและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งผู้นำเข้าเหล็ก มาเจรจาเรื่องอุปสงค์และอุปทานที่แท้จริงรายผลิตภัณฑ์เพื่อหาทางออกให้กับปัญหานี้อย่างยั่งยืนต่อไป

ในการนี้ สภาเอสเอ็มอีและสหพันธ์ผู้นำเข้าเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงมอบหมายให้นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง ประธานสหพันธ์ฯ และนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย เป็นผู้ประสานงานในภาพรวม และประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศในการจับคู่เจรจารายผลิตภัณฑ์

กรณี บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ของ ดร.นพรัตน์ กุลหิรัญ (มาดามรถถัง) ที่มีความซับซ้อนและเฉพาะ ขอให้เป็นการพิจารณาเป็นการเฉพาะต่อไป

สมาคมเหล็กลวด โดย นายเบญจพงษ์ โล่ห์ชิตกุล เสนอให้มีการยกเลิก AD เนื่องจากมีการบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว อุตสาหกรรมภายในน่าจะมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้แล้ว น่าจะเปิดเสรีให้มีการแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย และผู้เข้าร่วมประชุมหลายท่าน

ข้อสรุปจากการประชุม คือ มอบหมายให้นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง ประธานสหพันธ์ผู้นำเข้าเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย เป็นผู้ประสานงานในการเจรจาระหว่างอุตสาหกรรมภายในและผู้ประกอบการ SMEs และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีอธิดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นตัวกลางในการเจรจา รายผลิตภัณฑ์ และแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ

บทความที่เกี่ยวข้อง